วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

กวีเเห่งเปียโน ชาวฝรั่งเศส



เฟรเดริก ฟรองซัวส์ โชแปง (Fryderyk Franciszek Chopin)

            โชแปง มีฉายาว่า กวีแห่งเปียโน (Piano Poet) เพราะเขารักเสียงเปียโนเป็นชีวิตจิตใจ  เขาเกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1810 ใกล้กรุงวอร์ซอ  ประเทศโปแลนด์  บิดาเป็นชาวฝรั่งเศส  มารดาเป็นชาวโปแลนด์  เขาจึงเป็นชาวโปแลนด์ตามเชื้อสายของแม่  เขามีพี่น้องผู้หญิงอีก 3 คน พ่อแม่จึงรักเขามากเพราะเขาเป็นผู้ชายเพียงคนเดียว  ครอบครัวของเขาเคยมีฐานะดีมาก่อนแต่มายากจนในภายหลัง  

      เมื่อโชแปงอายุได้ 2-3 เดือน พ่อแม่ก็ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่วอร์ซอ  พ่อไปเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศส  โชแปงเริ่มเรียนเปียนโนเมื่ออายุได้ 6 ขวบกับ Adalbert Zywny ครูผู้ชื่นชอบดนตรีของ Bach , Mozart และ Beethoven แต่ภายหลังได้เปลี่ยนมาเรียนกับ Joseph Elsner ซึ่งเป็นครูเปียโนโดยตรง

      โชแปงได้แสดงเปียโนต่อหน้าสาธารณชนตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ  ทุกคนเลื่องลือในความสามารถอันมหัศจรรย์ของเขา  นิ้วที่พลิ้วไหว  และเสียงดนตรีที่มีอารมณ์ทำให้ผู้คนร่ำลือ  เขาได้แสดงต่อๆมาอีกหลายครั้งทั่วยุโรป  จนกระทั่งครั้งหนึ่งพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียถึงกับประทานแหวนเพชรให้

      โชแปงเป็นคนรูปร่างบอบบาง  อ่อนแอ  เป็นคนที่มีจิตใจอ่อนไหวง่าย  มีความรู้สึกรักชาติ รักมาตุภูมิมาตั้งแต่เด็กเพราะ เขาได้เห็นภาพที่ทหารปรัสเซีย (เยอรมัน) ออสเตรียและรัสเซีย เข้ารุกรานประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของเขา  แทบทุกวันที่โชแปงมองออกไปนอกบ้านเขาจะเห็นทหารรัสเซียฉุดกระชากทุบตีนักโทษชาวโปแลนด์ที่ผอมโซ  ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ  ต่อต้านระบบทรราชย์  และกำลังจะถูกเนรเทศไปอยู่ไซบีเรีย 

        ความรู้สึกหดหู่คับแค้นใจอันนี้เกิดเป็นแรงบันดาลใจทำให้เขาเขียนเพลงเพื่อมาตุภูมิของเขา  กล่าวกันว่าเพลงชิ้นแรกที่เขาประพันธ์เมื่ออายุ 7 ขวบ คือ Polonaise in G Minor แต่เพลง Polonaise ที่มีชื่อเสียงของเขา คือ POLONAISE IN A-FLAT MAJOR, OPUS 53

        เมื่อเขาเริ่มเป็นหนุ่มอายุประมาณ 19 ปี  ในปี ค.ศ. 1829  เขาไปหลงรักผู้หญิงคนหนึ่ง  ชื่อ  คอนสทันย่า ( Constantia  Gladkowska )  โชแปงเกิดความรักจนมีแรงบันดาลใจให้เขียนเพลงท่อนที่เรียกว่า ลาร์เก็ตโต ( Larghetto )  ในผลงาน  Piano Concerto No.2  in F minor  

        ในราวสองปีต่อมา  คอสทันยาของเขาก็แต่งงานไปกับพ่อค้าผู้มั่งคั่งแห่งวอร์ซอว์  

            ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง  ที่โชแปงรักและเธอก็รักเขา  คือ มาเรีย  ว้อดซินสก้า ซึ่งเป็นน้องสาวของเพื่อนที่เคยเรียนหนังสือมาด้วยกันตอนเด็กๆ  โชแปงมาพบมาเรียที่เมือง เดรสเดน  ประเทศเยอรมัน  และโชแปงได้แต่งเพลง Nocturne No.1 Bb  ให้แก่เธอ

            เมื่อโชแปงกลับจากเดรสเดนแล้ว  เขาแต่งเพลงเกี่ยวกับความทรงจำของเขาที่นั่น คือเพลง  BALLADE No 1in G Minor Opus 23 ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันได้ว่า  มาเรีย  วอดซินสก้า คือเนื้อหาของเพลงนี้  และเมื่อ ชูมันน์ได้ฟังเพลงนี้ก็ลงความเห็นว่ามันเป็นเพลงที่งดงามมาก

            ในภายหลังมาเรียได้แต่งงานไปกับท่านเคาน์โยเซฟ  สตาร์เบค  แต่ไม่มีความสุขในชีวิตสมรส จนเวลาล่วงเลยไปถึง 7 ปี  เธอจึงเลิกกับสามี

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1830 โชแปงต้องเดินทางออกนอกประเทศโปแลนด์เนื่องจากเขาเป็นบุคคลหนึ่งที่ปลุกระดมให้ชาวโปแลนด์ต่อต้านการครอบครองของออสเตรียและรัสเซีย  

        พ่อแม่ พี่น้อง อาจารย์และเพื่อนๆเศร้าใจกับการที่เขาต้องจากไป  จึงได้มอบก้อนดินของโปแลนด์ให้เขาเอาติดตัวไป  และก้อนดินก้อนนั้น โชแปงได้เก็บไว้จนวาระสุดท้ายของชีวิต


        เมื่อเขาเดินทางจากโปแลนด์ไปอยู่ฝรั่งเศส  เขาหลงใหลในตัวแม่ม่ายลูกติด นักเขียนชาวฝรั่งเศส  ในปี ค.ศ. 1837  โชแปงได้เริ่มมีความสัมพันธ์กับยอร์ช  ชังค์นักประพันธ์ผู้กำลังมีชื่อเสียง  ชื่อจริงของเธอ คืด  ออโรร์  ดือ เดอวองต์  ผู้มีอายุแก่กว่าโชแปงถึง 6 ปี  หล่อนเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์  ฟิกาโร  และ เรอวู เดอ ปารีส์    หล่อนชอบสวมเสื้อผ้าแบบผู้ชาย และสูบซิการ์  มีลูกติดสองคน  และชอบเปลี่ยนคนรักอยู่บ่อยๆ  โชแปงประทับใจในความเก่งกล้าสามารถ และความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวของเธอ  เขาทั้งสองหลบไปอยู่ด้วยกันอย่างเงียบๆ  และก็ได้ทำให้โชแปงได้ละเลยเรื่องการงานทางด้านดนตรีไปมาก  ซึ่งก็อาจเป็นเพราะอารมณ์อันอ่อนไหวของเขานั่นเอง  

        แล้ววันหนื่งเพื่อนและอาจารย์ Joseph Elsner ได้เดินทางมาหาเขาที่ปารีส  ขอร้องให้โชแปงช่วยแสดงคอนเสิร์ตเพื่อหาเงินไปช่วยเหลือชาวโปแลนด์ที่ต่อสู้เพื่อเอกราช  
              
          แต่ในที่สุดเสียงเรียกร้องของความรักชาติ  ก็กระตุ้นให้โชแปงได้หวนกลับมาแสดงคอนเสิร์ตเพื่อหาเงินไปช่วยพี่น้องชาวโปแลนด์ของเขา  แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากยอร์ชชังค์ก็ตาม  โชแปงได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของเพื่อนร่วมชาติอีกครั้ง  ทำให้เขาต้องหยิบก้อนดินจากโปแลนด์ที่เพื่อนมอบไว้ให้เขาขึ้นมากำอย่างปวดร้าวใจ

            “ ดินก้อนนี้  ตีตุสและพี่น้องได้ให้แก่เรามาเมื่อวันที่เราจะจากโปแลนด์  เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้เราระลึกถึงเสียงร่ำไห้ของพี่น้องชาวโปแลนด์ที่อยู่เบื้องหลัง  เพื่อเตือนให้เราขะมักเขม้นทำงานเสียสละเพื่อช่วยชาติ  แต่เราได้ลืมคำสัญญาและคำสาบานของเราเสียสนิท  แต่นี้ไปเราต้องปฎิบัติตามคำสาบาน”  เขากล่าวพร้อมกับยกก้อนดินขึ้นจูบ  

            ดังนั้นในปี ค.ศ.1848  เขาจึงออกตระเวณแสดงคอนเสิร์ตไปตามเมืองหลวงของประเทศต่างๆ  ลอนดอน  แมดริด  เวียนนา  บาร์เซโลน่า  บรัสเซลส์  และเบอร์ลิน  เพื่อนำเงินไปช่วยพี่น้องชาวโปแลนด์ต่อสู้เพื่อเอกราช


            ต่อมาในปี ค.ศ.1847 ความสัมพันธ์ของโชแปงกับยอร์ชชังด์  ก็สิ้นสุดลง เนื่องจากลูกชายของเธอยิ่งไม่ชอบโชแปงขึ้นทุกวัน  และสุขภาพของโชแปงก็เสื่อมทรุดลง  เขามีอาการไอเป็นเลือดอยู่บ่อยๆ เพราะเขาเป็นวัณโรคมาตั้งแต่อยู่โปแลนด์แล้ว  เดอลาครัวซ์และเพื่อนๆได้มาพบเห็นโชแปงในสภาพที่ร่างกายทรุดโทรมและยากลำบากทางการเงิน  พวกเขาจึงพากันช่วยเหลือ

            พอวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1849  โชแปงก็อาการหนัก  ลุกไม่ไหวและพูดไม่ค่อยได้แล้ว  เขาขอให้เพื่อนๆช่วยเล่นเพลง “เรควิม” ( Requiem )ของโมสาร์ทในงานศพของเขา  และเขาได้กล่าวอำลาเพื่อนๆทุกคน  และในที่สุด ใกล้จะรุ่งอรุณของวันที่ 17 ตุลาคม เขาก็สิ้นชีวิต  เขามีอายุเพียง 39 ปีเท่านั้น  

            งานศพของเขาที่ปารีส  ใช้เวลาเตรียมงานศพถึง 13 วัน  เพราะต้องเตรียมเรื่องนักร้องประสานเสียงที่จะมาร้องเพลง  รีควีมของโมสาร์ท  ซึ่งเป็นเพลงที่โชแปงชอบมาก  ขบวนแห่ศพอันยาวเหยียดได้เริ่มขึ้น  มีการกล่าวสุนทรพจน์ตามประเพณีนิยม  และในขณะที่โลงศพถูกหย่อนลงในหลุม    ดินจากโปแลนด์ที่โชแปงได้เก็บรักษาไว้จนวาระสุดท้ายของชีวิตก็ได้ถูกโปรยลงไปในหลุมฝังศพด้วย

            ที่หลุมฝังศพของเขามีคำจารึกว่า
        
              พักอยู่ในความสงบ 
              วิญญาณอันงดงาม  
              ศิลปินผู้สูงส่ง  
              ความไม่มีวันตาย
            ได้เริ่มขึ้นแก่ท่านแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น